Suggestion Post

Review ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 6 อวสานหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ภาค 6 อวสานหงสา        ตอนสุดท้ายของตำนานแห่งประวัติศาสตร์ไทย บทสุดท้ายที่เล่าเรื่องของจุดจบของพ...

2554-06-28

เสียดายคน Vote no ไม่ได้อ่าน

โดย ดร. ไกรยส ภัทราวาท
Institute for Quantitative Social Science Harvard University
(Visiting Fellow in Residence 2009-2010)
ในปี 2553 ผมได้รับเชิญเป็น Visiting Fellow ที่ Institute for Quantitative Social Science มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อทำงานวิจัยการใช้มาตรการอารยะขัดขืนผ่านการโหวตโนและการคว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2549 ของประเทศไทย ผมจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโหวตโนในการเลือกตั้งของไทยในปี 2549 และ 2554 ที่คนไทยไม่เคยรู้เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจของพี่น้องทุกคนและของประเทศไทย
โหวตโนปี 2549 ไม่มีผลทางนิตินัย
การโหวตโนในปี 2549 ไม่มีผลทางนิตินัยต่อผลการเลือกตั้ง
แท้จริงแล้ว เงื่อนไขของการเลือกตั้งใหม่ อยู่ที่ 20% ซึ่งเป็นสาเหตุที่ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ถึง 3 รอบ ใน 40 เขต จนไม่สามารถเปิดการประชุมสภานัดแรกได้
ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2549 พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคว่ำบาตรการเลือกตั้งและรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิโหวตโนโดยอ้างว่าการกาช่องโหวตโนเพื่อประท้วงการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อลบล้างความผิดในการทุจริตทางนโยบายของรัฐบาล คนไทยมากมายที่โหวตโนในปี 2549 และที่กำลังจะโหวตโนในสัปดาห์หน้าเข้าใจว่าหากคะแนนโหวตโนในเขตที่มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงพรรคเดียวมีมากกว่าคะแนนที่ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้รับ ผู้สมัครผู้นั้นจะไม่สามารถได้รับเลือกเป็นสส.และกกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ข้อเท็จจริงในปี 2549 คือมาตรา 74 ในพรบ.การเลือกตั้งปี 2541 ระบุเงื่อนไขที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวไว้เพียงเงื่อนไขเดียวคือการมีผู้ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครคนนั้นไม่ถึงร้อยละ20ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้น เงื่อนไขที่ผู้สมัครคนเดียวจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงโหวตโนพึ่งจะได้รับการตราเป็นกฎหมายในพรบ.การเลือกตั้งปี 2550 เท่านั้น
ใครโหวตโนในปี 2549 ?
แม้จะมีเสียงโหวตโนถึง 12 ล้านเสียงซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 8 ล้านใบจากการเลือกตั้งในปี 2548แต่คะแนนโหวตโนในปี 2549 ในแต่ละเขตเลือกตั้งมีความแตกต่างตามคุณลักษณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 เขต เขตที่มีการใช้สิทธิโหวตโนมากเกินกว่าร้อยละ 40 ของคะแนนรวมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ฐานเสียงของฝ่ายค้าน (Partisan District) อันประกอบด้วย 59 เขตที่เลือกพรรคฝ่ายค้านมาตลอดการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคกลาง และ เขตการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันสูง (Swing District) อันประกอบด้วย 111 เขตเลือกตั้งใน กทม. ภาคกลาง และภาคใต้ ที่ไม่มีพรรคใดเคยชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันระหว่างปี 2544-2548 จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติพบว่ากลุ่มผู้ใช้สิทธิโหวตโนมี 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรฯ และ กลุ่มผู้เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยในปี 2544-2548 โดยจากการประมาณการณ์พบว่าผู้โหวตโนในปี 2549 ทั้ง 12 ล้านคนเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านราว 35% กลุ่มผู้เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยราว 40% และกลุ่มพันธมิตรราว 25% นอกจากนั้นยังพบว่าผู้หญิง ผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง ผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารสม่ำเสมอมีแนวโน้มจะโหวตโนมากกว่ากลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นๆ
โหวตโนปี 2554 ก็ยังไม่มีผลทางนิตินัย
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2554  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์และโดยคมชัดลึกได้นำเสนอบทความ “ผลทางนิตินัยของบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน (VOTE NO)” ของคุณอนุรักษ์  สง่าอารีย์กูล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ซึ่งมีข้อความสนับสนุนผลทางนิตินัยของการโหวตโนโดยการอ้างมาตรา 88 และ มาตรา 89 ของ พรบ. การเลือกตั้งปี 2550 ดังนี้
“มาตรา 89 บัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 88 ซึ่งเป็นเทคนิคการร่างกฎหมายที่ต้องการให้มาตรา 89 นำหลักการตามมาตรา 88 มาใช้บังคับด้วยโดยไม่ระบุซ้ำลงไปในมาตรา 89 อีก จึงหมายความว่า ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครหลายคน ผู้สมัครที่จะถือว่าเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง จะต้องผ่านองค์ประกอบของกฎหมายทั้งมาตรามาตรา 88 และมาตรา 89 กล่าวคือ 1)ได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น 2)ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง และ 3)ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้น
ผมเห็นไปทางเดียวกับ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ตั้งข้อสังเกตว่าการตีความคำว่า “ภายใต้บังคับ” เช่นนี้เป็นการตีความที่ผิดที่ทำให้เข้าใจผิดได้ว่าการโหวตโนในการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คนขึ้นไปในทุกเขตเลือกตั้ง มีผลทางนิตินัย คำว่า“ภายใต้บังคับ”เป็นวลีที่มีนัยพิเศษทางกฎหมาย โดยในบริบทนี้หมายความว่า “ยกเว้นในกรณีตาม” จึงขอยกมาตรา 88 และ 89 จากพรบ. การเลือกตั้ง 2550 ขึ้นมาอธิบายให้กระจ่างดังนี้
มาตรา 88 ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียวผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง…
มาตรา 89 ภายใต้บังคับมาตรา 88 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง…
จากตัวบทข้างต้นในหนึ่งเขตเลือกตั้งจะเกิดสถานการณ์ได้ 2 สถานการณ์คือ เป็นเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัคร 1 คน และเป็นเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครมากกว่า 1 คน ในกรณีทั่วไปที่มีผู้สมัครมากกว่า 1 คนความตามมาตรา 89 “ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง” จะถูกบังคับใช้ในเขตเลือกตั้งนั้นไม่ว่าจะมีคะแนนโหวตโนมากน้อยเท่าใด ส่วนเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครเพียง 1 คน  ความตามมาตรา 88  “ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิในเขต และมากกว่าจำนวนบัตรโหวตโน” จะถูกบังคับใช้
ดังนั้น กรณีมาตรา 88 กับ มาตรา 89 จะนำมาปะปนกันไม่ได้ เพราะในเขตเลือกตั้งเดียวกันย่อมเป็นได้เพียงกรณีใดกรณีหนึ่ง คือมีผู้สมัครหลายคนตามกรณีมาตรา 89 หรือไม่ก็มีผู้สมัครเพียงคนเดียวตามกรณีมาตรา 88 ทั้งสองกรณีไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ดังนั้นกฎหมายทั้ง 2 มาตราจึงไม่สามารถบังคับใช้พร้อมกันในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
จากการแถลงการณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเวปไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่ามีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 1 คนขึ้นไปในทุกเขตเลือกตั้งทั้ง 375 เขต ดังนั้นในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ความในมาตรา 89 จึงมีผลบังคับใช้ในทุกเขตการเลือกตั้งและผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งไม่ว่าจะมีเสียงโหวตโนเท่าใดในเขตนั้น การโหวตโนในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่มีผลทางนิตินัยตามที่หลายคนเข้าใจ
ดร. ไกรยส ภัทราวาท
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง
Institute for Quantitative Social Science
(Visiting Fellow in Residence 2009-2010)
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Comment here (เขียนความคิดตรงนี้นะ)