Suggestion Post

Review ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 6 อวสานหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ภาค 6 อวสานหงสา        ตอนสุดท้ายของตำนานแห่งประวัติศาสตร์ไทย บทสุดท้ายที่เล่าเรื่องของจุดจบของพ...

2554-05-06

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ...จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน (จริงหรือ)

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ...จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน (จริงหรือ)


ในระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากระบุว่า “เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” และ “แสดงถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม”  ทำให้เกิดการณรงค์ต่อต้านประมวลกฎหมายดังกล่าว ผ่านการณรงค์ตามเว็ปไซต์และการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

การแสดงความคิดเห็นตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นมีการจำกัดความว่าอะไร? จริงหรือไม่ที่ ม.112 นั้นทำให้ประชาชนถูกบังคับไม่ให้พูดความจริง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เสรีตามหลักการดังกล่าว

สิ่งที่นักวิชาการกลุ่มนี้มักอ้างถึงคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วย “เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ” (Liberté, Égalité, Fraternité) ซึ่งเป็นคำขวัญประจำชาติของฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคปฏิวัติ คนพวกนี้มักอ้างว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง ทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ และทุกคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องเสมอภาคกัน และถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทุกประการ

จริงหรือ ที่ระบบการปกครองใดจะรับรองให้ใครก็ตามพูดอะไรก็ได้ที่ตนเองอยากพูด โดยอ้างอิงหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Free Speech) เพียงอย่างเดียว

และจริงหรือ ที่จะมีระบบการปกครองใดที่สามารถสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกชนชั้น สามารถทำให้ทุกคนในสังคมมีความเท่าเทียมกันอย่างได้แท้จริง   
ความจริงอยู่ที่ว่า คำว่าเสรีภาพ เสมอภาค ฟังดูดี ดูเป็นอะไรที่ทุกคนในสังคมได้ประโยชน์ ได้รับโอกาส และดูเหมือนว่าจะทำให้ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดกาล แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “อุดมคติ(Ideal) คือ เป็นได้แค่คำขวัญที่ฟังแล้วไพเราะ เสนาะหู ฟังดูดี แต่ไม่มีจริง และไม่เคยเกิดขึ้นไม่ว่าจะในที่ใดๆก็ตาม


ในเรื่องเสรีภาพ ทุกประเทศไม่ว่าจะอยู่ในระบบการปกครองแบบใด จะมีการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะมีข้อจำกัดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรูปแบบและวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นหรือการพูดเหล่านี้ “อาจจะกระทบกับความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของชาติ” 

ดังที่ปรากฏเป็นตัวอย่างใน ม.112 ของประเทศไทย  นั่นก็เพราะไม่ว่าจะโดยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์หรือกฏหมาย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนของความเป็นชาติมาโดยตลอด ในปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ (Head of State) โดยที่ทรงเป็นผู้แทนของชาติทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การกล่าวและประทุษร้ายต่อสถาบันฯจึงเปรียบเสมือนการจงใจดูหมิ่นและทำลายภาพพจน์ของชาติ ซึ่งอย่างแน่นอนที่สุดส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพสกนิกรผู้มีความผูกพันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับ การกล่าวล้อเลียนพระศาสดามูฮัมมัด ที่ทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ชาวมุสลิมทั่วโลก

ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแบบอย่างของประชาธิปไตยในอุดมคติซึ่งกลุ่มคนล้มเจ้ามักจะกล่าวอ้าง ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เจ้าของคำขวัญ”เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” อย่างฝรั่งเศส หรือเจ้าพ่อประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ล้วนจำกัดเสรีภาพในการแสดออกของประชาชนไว้ ประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจทุกอย่างตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นมีมากมาย อาทิ กฎหมายห้ามสร้างมัสยิดในสวิสเซอร์แลนด์ กฎหมายห้ามสวมผ้าคลุมหน้าของหญิงมุสลิมในฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลที่ว่าลักษณะดังกล่าวนั้น “ทำลายเอกลักษณ์” ของความเป็นชาติ   และกฎหมายความมั่นคงซึ่งพึ่งถูกใช้ดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องในการเปิดเผยข้อมูลของ Wikileaks ให้เห็นเป็นตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ รวมไปถึงการใช้ขันตอนพิเศษในการลงโทษผู้กระทำผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือบุคคลที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์หรือผู้นำของชาติอีกด้วย เหตุผลที่ต้องมีกฏหมายดังกล่าวนั้นเป็นเพราะชาติแต่ละชาตินั้นย่อมมีปัจจัย สัญลักษณ์ หรือ เอกลักษณ์แห่งตนซึ่งถือเป็นหน้าตาและเกียติยศศักดิ์ศรีที่ควรรักษาไว้ของชาตินั้นๆ และจะไม่ยอมให้ใครก็ตามมาทำให้เสื่อมเสียได้เป็นอันขาด

นอกจากนี้ประเทศประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ การใช้คำพูดเพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) ล้วนถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย สหรัฐฯซึ่งถือเป็นประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกมากที่สุดก็ยังมีข้อยกเว้นในการแสดงความคิดเห็นอยู่สามประการคือ การใช้คำหยาบคาย การกล่าวดูถูกเหยียดหยาม และการปลุกระดม ในแคนาดา การสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี ในอังกฤษ การใช้คำพูดหรือพฤติกรรมไปในการข่มขู่ กล่าวหา ทำให้เสื่อมเสีย ล้วนถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จะเห็นได้ว่า การพูดเพื่อสร้างความเกลียดชัง หมิ่นประมาท และข่มขู่ ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีสังคมที่ไหนยอมรับกัน โดยเนื้อหาการหมิ่นประมาทนั้นอาจรวมไปถึงการกระทำการหรือใช้คำพูดใดๆให้ร้ายหรือนำมาซึ่งการเสื่อมเสียชื่อเสียงของบุคคลนั้นๆอีกด้วย

ซึ่งตรงกับเนื้อความที่ว่า “ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
และเหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับบุคคลธรรมดาที่ใช้กันในประเทศไทย ซึ่งกำหนดโทษสำหรับ การหมิ่นประมาท ( ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 134 133) การดูหมิ่น  (ตามมาตรา 133 194 198 393) และการอาฆาตมาดร้าย (ตามมาตรา 134 133)

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏอยู่บน ม.112 ทั้งสามอย่างคือ การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย ล้วนเป็นสิ่งที่ปกป้องพระมหากษัตริย์จากการกระทำอันไม่หวังดีซึ่งเหมือนกับที่ประชาชนคนธรรมดาได้รับการปกป้องนั่นเอง

บุคคลหลายๆคนที่ถูกดำเนินคดี ตาม ม.112 เช่น น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล นายใจ อึ๊งภากรณ์ หรือไม่ว่าจะเป็นแกนนำเสื้อแดงบางคน มีการกระทำเข้าข่าย การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และ อาฆาตมาดร้าย อย่างโจ่งแจ้งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าบุคคลเหล่านี้กระทำการในลักษณะเดียวกันต่อบุคคลธรรมดา ย่อมถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีเช่นกัน ซึ่งถึงแม้บทลงโทษจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง คือบุคคลที่ทำผิดตาม ม.112 จะต้องโทษจำคุก ในขณะที่การทำผิดต่อบุคคลธรรมดาจะได้รับโทษปรับ แต่การกล่าวโจมตีบุคคลธรรมดาสามัญย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวบุคคลนั้นๆมากเท่ากับการใส่ร้ายโจมตีพระมหากษัตริย์ ซึ่งเท่ากับการทำลายภาพลักษณ์และความมั่นคงของประเทศยกตัวอย่าง หากนาย ก ใส่ความ นาง ข ผ่านสื่อโทรทัศน์ นาง ข ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่มีใครรู้จัก และไม่มีชื่อเสียงเกียรติยศที่ต้องรักษาไว้ นาง ข ย่อมไม่ได้รับความเสียหายมากเท่ากับกรณีสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกใส่ความโดยวิธีการเดียวกัน มาตรการในการปกป้องสถาบันจึงต้องมีความเข้มงวดมากกว่าเพื่อป้องปรามการกระทำลักษณะดังกล่าว

นอกจากนี้กลุ่มนักวิชาการมักอ้างว่าตนมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูด แต่ ม.112 นั้นไป “จำกัดเสรีภาพ” ของตน
ในระบอบประชาธิปไตย คนเรามีสิทธิที่จะ ด่าทอ ดูหมิ่น เหยียดหยาม โดยใช้คำพูดหยาบคาย และข่มขู่อาฆาต แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ มีกฏหมายฉบับใดในโลกเคยให้การรับรองการกระทำลักษณะนี้หรือไม่?

จริงอยู่ว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นสิ่งดี สามารถสร้างความยุติธรรมให้แก่สังคม เช่น หญิงสาวคนหนึ่งออกมาพูดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อสามีของเธอที่เสียชีวิตในระหว่างการสลายการชุมนุม ในกรณีนี้หญิงคนดังกล่าวมีสิทธิในการพูดที่จะเรียกร้องสิทธิแทนสามีของเธอที่เสียชีวิตไป นั่นคือสิทธิที่เธอมีอยู่เดิมแต่ถูกทำให้สูญเสียไป ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการที่ชายแก่คนหนึ่งจะเรียกร้องสิทธิในการด่าทอ โจมตีผู้อื่น ด้วยคำพูดที่หยาบคาย เพราะสิทธิในการด่าทอและกล่าวหาผู้อื่นนั้นไม่เคยเป็นของเขามาก่อน และไม่มีใครในระบอบประชาธิปไตยได้รับสิทธินี้ และการกระทำดังกล่าวยังเป็นการละเมิดต่อสิทธิและศักดิศรีของผู้อื่นอีกด้วย เทียบตัวอย่างง่ายๆ เหมือนกับการที่ นาย จ. ขึ้นเวทีกล่าวโจมตี นาย ฉ ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายและกล่าวโดยไม่มีหลักฐาน เมื่อนาย จ. ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท กลับมาอ้างว่ากฏหมายนั้นห้ามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเขา และพยายามรณรงค์ให้ยกเลิกกฏหมายหมิ่นประมาทเสีย

การกล่าวอ้างว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นทำไม่ได้ก็ไม่เป็นความจริง ดังที่ปรากฏในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายๆคดี โดยเฉพาะ คดี ของ ส. ศิวรักษ์ ซึ่งเห็นได้ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์จริง แต่เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาล และสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย”  ศาลจึงยกฟ้อง ต่างกับกรณีของ ดา ตอร์ปิโด ที่มีการพูดจาให้ร้ายจาบจ้วงด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ดูหมิ่นสถาบันหลักของชาติ โดยไร้หลักฐานและไร้เหตุผล ซึ่งไม่สามารถแก้ตัวได้
การวิพากษ์วิจารณ์ที่อยู่บนหลักเหตุผลและไม่ประกอบไปด้วยคำหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จึงสามารถทำได้ 



หาก ม.112 ห้ามวิพากษ์วิจารณ์จริง เราคงไม่ได้เห็น จดหมายเปิดผนึกของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เขียนกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัคราชกุมารี นิตยาสารจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เว็บไซต์ประชาไท หรือนักวิชาการจำนวนมากที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ก็ยังบอกกับประชาชนว่าพระมหากษัตริย์นั้นวิจารณ์ไม่ได้  ซึ่งแม้ว่าจะมีการฟ้องหรือเรียกตัวเพื่อชี้แจงแต่บุคคลดังกล่าวก็มิได้ต้องโทษจำคุก


นอกจากนี้ยังมีวิธีการตามธรรมเนียมประเพณีอีก อาทิ การทูลเกล้าถวายฎีกา ซึ่งเปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถนำเรื่องราวที่ได้รับความเดือดร้อน ทุกข์ใจใดๆก็ได้ กราบทูลถึงพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง คนเรานั้นหากคิดว่าสิ่งใดไม่ดี ไม่เหมาะสม ต้องการแสดงออกก็สามารถทำได้โดยถ้อยคำที่สุภาพ มีเหตุมีผล และอยู่บนหลักความเคารพต่อผู้อื่น การใช้คำพูดหยาบคาย ดูหมิ่น ขู่อาฆาต ล้วนแต่จะสร้างความแตกแยกและความเกลียดชังให้เกิดแก่ผู้คนในสังคม ซึ่งการพูดจาหยาบคาย เสียดสี ดูหมิ่น หรือ ขู่อาฆาตนั้นเป็นวิถีที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว

 หากต้องการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ อาทิ เรื่องโครงการในพระราชดำริ ผู้วิจารณ์ก็ควรจะลงพื้นที่สำรวจ ขึ้นเขาลงห้วยในเขตธุรกันดารตามเส้นทางที่เคยเสด็จไปและทำการวิจัยอย่างจริงจังเพื่อนำผลการวิจัยมานำเสนอให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียมากกว่าที่จะนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์และพร่ำพูดแต่เพียงว่าวิจารณ์ไม่ได้ ประณามไม่ได้ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมเลย

จะเห็นได้ว่ากลไกในการแสดงความคิดเห็นนั้นมีอยู่มากมาย แต่คนที่ต้องการจะสร้างประเด็นเลือกที่จะไม่นำมาใช้เอง และกลับมาเรียกร้องสิทธิซึ่งตนไม่มีอยู่ และก็ไม่มีประชาชนชาติไหนๆมีสิทธิในลักษณะนี้ เราจึงต้องสามารถแยกแยะระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจและการกล่าวร้ายให้ออก มิฉะนั้นก็จะมีการใช้ข้ออ้างในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีมาทำร้ายทำลายผู้อื่นได้ตามอำเภอใจ

ในเรื่องการบังคับใช้ที่มีบทลงโทษต่างกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ก็ย่อมเป็นเรื่องปกติ เพราะในบริบทของสังคมไทย  พระมหากษัตริย์ไม่ใช่เพียงบุคคลธรรมดาสามัญ แต่เป็นถึงพระประมุขซึ่งคนไทยให้ความรัก เคารพเทิดทูน และยังเป็นตัวแทนของชาติ (Head of State) ซึ่งถือได้ว่าคือหน้าตาและสัญลักษณ์ของชาติโดยบริบทของประเทศต่างๆนั้นจะมีบุคคลที่ทำหน้าที่นี้ไม่เหมือนกัน แต่การมีราชวงศ์นั้นสื่อถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ ซึ่งในนัยยะด้านวัฒนธรรมนั้นถือว่าเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง ไม่ว่าทางด้านศิลป์หรือการสื่อถึงเอกลักษณ์ การสร้างความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์จึงเป็นการสร้างความเสียหายและเป็นภัยต่อความมั่นคงของสัญลักษณ์แห่งชาติที่เป็นบุคคล ผู้ได้รับผลกระทบจึงไม่ใช่แค่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว แต่ยังรวมถึงความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปด้วย การกำหนดบทลงโทษจึงต้องสูงกว่าคดีหมิ่นประมาททั่วไป เฉกเช่นกับการดูหมิ่นศาล การทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งมีบทลงโทษหนักกว่าการกระทำกับบุคคลทั่วไป

นอกจากนี้เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยเราจะอ้างแต่เพียง “สิทธิเสรีภาพ” ไม่ได้ แต่ยังต้องรวมถึง การให้เกียรติและการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน
สังคมทุกสังคมล้วนมีบรรทัดฐาน ล้วนมีวัฒนธรรมในแบบของตนเองอยู่ ซึ่งไม่ว่าใครที่อยู่ในสังคมนั้นก็ต้องยึดถือและให้ความเคารพ ถึงแม้ตนจะมีความคิดที่แตกต่าง เข้าทางสุภาษิต “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ไม่ใช่ว่าปัจเจกชนมีอิสรเสรีในทุกเรื่อง ลองนึกภาพหากชายคนหนึ่งจะเลียนแบบนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง แล้วไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติในประเทศรัสเซีย หรือไปยืนด่าเหมาเจ๋อตุงในจตุรัสเทียนอันเหมิน หรือแสดงความไม่เคารพต่อศาสดามูฮัมหมัดในมัสยิดของชาวมุสลิม นายโชติศักดิ์ก็คงไม่ได้รับเพียงการลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมายแต่ยังอาจรวมถึงการลงประชาทัณฑ์ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียอีก


และหากมองในมิติของสังคมไทยซึ่งให้ความสำคัญกับการให้ความเคารพนับถือผู้มีอาวุโสสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในครอบครัว หัวหน้าในที่ทำงาน ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน บุคคลที่กระทำการอันไร้ซึ่งความเคารพและมารยาทต่อบุคคลที่มีอาวุโสสูงกว่าไม่ว่าจะในด้านวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ นั้นก็เป็นบุคคลที่สังคมไทยไม่ให้การยอมรับเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับการที่มีคนบางกลุ่มเรียกร้องให้เลิกใช้คำพูดหยาบคายโจมตี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ เนื่องจากเคยมีตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรีปัญหาที่รอการแก้ไขและมีความเร่งด่วนในบ้านเมืองของเรานั้นมีมากมาย คนดีไม่ได้ปกครองบ้านเมือง นักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติโกงบ้านกินเมือง อีกทั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำเพื่อตนเองและพวกพ้องมากกว่าที่จะทำเพื่อประชาชน ในขณะที่กลไกประชาธิปไตยไม่สามารถทำอะไรได้ มีนักการเมืองเพียงแค่ไม่กี่คนถูกดำเนินคดี ประชาชนธรรมดามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดีขึ้นเลย และต้องรับบาปกรรมที่นักการเมืองก่อไว้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากนโยบายรัฐ หรือปัญหาต่างๆที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงใจ

 แต่นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่เคยให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้  กลับมาสนใจแค่ประเด็นที่เป็น “อุดมคติ” ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ถึงจะเปลี่ยนแปลงไปก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ การที่ประชาชนมีสิทธิในการด่าทอมากขึ้น จะทำให้พวกประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี หรือแก้ปัญหาของชาติได้อย่างไร

ในแอฟริกาใต้ ถึงแม้ เนลสัน แมนเดลลา จะได้เป็นประธานาธิบดี คนผิวดำมีสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาวมากขึ้นทั้งในการแสดงออกและในการเลือกตั้ง แต่จากสถิติตั้งแต่ปี 1996-ปัจจุบัน พบว่าจำนวนคนยากจนผิวดำในแอฟริกาใต้กลับเพิ่มจำนวนขึ้น ช่องว่างระหว่างคนขาวและคนดำก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่คนขาวยังคงกุมอำนาจทางเศรษฐกิจไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

การเรียกร้องเสรีภาพในการโจมตีให้ร้ายเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาสังคม หากเราละเลยที่จะมองปัญหาที่จำเป็นและสำคัญกว่า คนเรามีเวลาแค่วันละ 24 ชั่วโมง รัฐบาลมีเวลา 4 ปี หากเรามัวหลงอยู่กับเรื่องราวเพ้อฝันของนักวิชาการบางกลุ่ม   ปัญหาที่แท้จริงก็จะไม่ได้รับการแก้ไข

โดยสรุปจะเห็นได้ว่า ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้ขัดต่อหลักการเสรีประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เป็นกฏหมายที่ให้ความคุ้มครองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นความคุ้มครองอย่างเดียวกันกับที่ประชาชนคนธรรมดาได้รับ อันเป็นการป้องปรามการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และการอาฆาตมาดร้าย จากผู้ไม่หวังดีที่ต้องการทำลายความมั่นคงของชาติ และนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมือง จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยที่รักชาติและหวงแหนวัฒนธรรมของความเป็นไทยทุกคนที่จะต้องคุ้มครองกฏหมายมาตรานี้เพื่อพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับชาติไทยตลอดไป 

ศูนย์กลางนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
5 พฤษภาคม 2554