Suggestion Post

Review ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 6 อวสานหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ภาค 6 อวสานหงสา        ตอนสุดท้ายของตำนานแห่งประวัติศาสตร์ไทย บทสุดท้ายที่เล่าเรื่องของจุดจบของพ...

2554-06-13

จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ (ตอน ๒)




ตอนที่ 2 กฎเหล็ก 9 ข้อ : สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง

ก่อนที่จะเริ่มทำงานกับพรรคร่วม ผมบอกกับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ประสานทั้งหมดอย่างชัดเจนว่า ถ้าเราจะจัดตั้งรัฐบาลทุกคนต้องเข้าใจว่าจะเข้ามาบริหารในสถานการณ์อะไร กติกาการทำงานก็ต้องเป็นไปในแนวที่ผมสบายใจที่จะทำ คือ เน้นเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน และกำหนดภารกิจให้ชัดว่าจะมาทำอะไร

ผมรับรู้ตั้งแต่วันแรกของการประชุม ครม.ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พรรคร่วมรัฐบาลจะปฏิบัติตามกติกาที่เราตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น เพราะการต่อรองเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ผมก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า โครงการไหนเป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่มีการทำผิดกฎหมาย ก็เดินหน้าไป เพราะเราจะเอาความกลัวการทุจริตมาหยุดพัฒนาประเทศไม่ได้ แต่เราต้องพัฒนาประเทศควบคู่กับตรวจสอบการทุจริตให้ดีที่สุด ผมจึงวางแนวทางการทำงาน 9 ข้อ ซึ่งสื่อมวลชนเรียกกันว่า กฎเหล็ก 9 ข้อเพื่อยกระดับบรรทัดฐานทางการเมือง. ให้ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย

เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนเจ็บปวดกับรัฐบาลในอดีตว่า ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ยอมรับการตรวจสอบ เมื่อมีโอกาสได้บริหารประเทศ ผมจึงพยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความแตกต่างระหว่างรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ กับรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองอื่นเป็นแกนนำว่ามีความแตกต่างด้านจริยธรรมอย่างไร

ผมมุ่งมั่นที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับประชาชนทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง โดยไม่มีวันทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน และตั้งใจวางรากฐานยกระดับบรรทัดฐานทางการเมืองของประเทศไทย ให้นักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน เฉกเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วไป ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติการเมืองที่ล้มเหลวได้ในระดับหนึ่ง

แนวทาง 9 ข้อที่ผมขอให้ครม.ยึดถือ คือ

1.ให้ ครม.น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้ ครม. เมื่อวันที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะที่พระองค์ทรงเน้นเรื่องการปฏิบัติงานให้เกิดความเรียบร้อย และเกิดความสุขในหมู่ประชาชน 

2.เน้นกับ ครม.เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อใดรัฐบาลไม่สามารถบริหารอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริตได้ ก็จะเป็นปัญหาทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล และบางครั้งนำไปสู่ความสูญเสียอธิปไตยด้วยซ้ำ ที่สำคัญจะต้องดูแลไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคลากรที่มาช่วยงาน. 

3.ยึดนโยบายที่ ครม.แถลงต่อสภาในการทำงาน ถ้ารัฐมนตรีที่จะไปกำหนดนโยบาย เพิ่มในระดับกระทรวง หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบาย ขอให้อ้างอิงนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ 

4.การทำงานของรัฐบาลต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและความเป็นเอกภาพ แม้เป็นรัฐบาลผสม แต่เราต้องไม่เป็นรัฐบาลที่แบ่งพรรค ต้องเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบร่วมกัน ปัญหาในประเทศหลายอย่างในขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ดังนั้นการประสานงานระหว่างกระทรวงเป็นเรื่องสำคัญ หมายถึงบทบาทของการมีระบบคณะกรรมการ จึงขอให้ ครม.เห็นความสำคัญของระบบการทำงานแบบคณะกรรมการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะต้องแก้วิกฤติ 

5.รัฐบาลนี้อยู่ในวิถีทางรัฐสภา รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ ไปรับฟังความเห็นของ ส.ส. ทั้งการอภิปรายในสภา หรือพบปะพูดคุยกับ ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญที่สุดรัฐมนตรีต้องทราบเวลาที่ชัดเจนเรื่องกระทู้ถามสดคือ 13.30 น. ของทุกวันพฤหัสบดี จึงขอให้รัฐมนตรีไม่มีภารกิจนัดหมายใดๆ ยกเว้นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ 

6.รัฐมนตรีทุกคนถือเป็นบุคคลสาธารณะ ขอให้รัฐมนตรีปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน 

7.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม การดำเนินนโยบายหรือโครงการที่ยังไม่เป็นที่รับทราบของประชาชน ขอให้อดทนและอย่าตั้งแง่ต่อการเข้าไปรับฟังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการประชาพิจารณ์ หรืออะไรก็ตาม. 

8. รัฐบาลชุดนี้ต้องพร้อมรับการตรวจสอบ จะมีการตรวจสอบเชิงนโยบายหรือเรื่องอื่น ๆ รัฐมนตรีต้องไม่สร้างอุปสรรค ขัดขวางการตรวจสอบ อยากขอว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการตรวจสอบลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ หรือการสัมภาษณ์ขอให้ชี้แจงโดยใช้เหตุผล ข้อเท็จจริง หลีกเลี่ยงการนำรัฐบาลหรือตัวเองเข้าไปตอบโต้หรือทะเลาะ 

9. รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชนคนอื่นในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นจะต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย

จะเห็นได้ว่าผมปฏิบัติตามกฎ 9 ข้อของตัวเองอย่างเคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่น การไม่เป็นชนวนความขัดแย้งหรือเป็นคู่กรณีกับใครที่ทำให้เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง ตั้งแต่เริ่มบริหารประเทศผมก็ถูกสกัดกั้นทุกทางไม่ให้ได้มีโอกาสสื่อสารกับประชาชนบางกลุ่ม แม้แต่วันแถลงนโยบายรัฐบาลผมก็ยังต้องไปแถลงที่กระทรวงการต่างประเทศแทนที่รัฐสภา เพราะมีคนเสื้อแดงไปล้อมอยู่

ไม่ใช่เพราะผมขี้ขลาดหรอกครับ แต่เป็นความพยายามทุกวิถีทางเพื่อลดความรุนแรงทางการเมือง ผมกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไปในบางพื้นที่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะผมทำผิดคิดร้าย แต่เพราะมีการปลุกปั่นจัดตั้งประชาชนอย่างเป็นระบบเพื่อขัดขวางทุกทางไม่ให้ผมทำงานและสื่อสารกับประชาชนบางกลุ่มได้ อาจจะเรียกได้ว่า 2 ปีกว่าของการเป็นนายกรัฐมนตรีคือช่วงที่โลดโผนที่สุดในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ 

มีนักข่าวถามผมว่า มาเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาพทุลักทุเลต้องคอยหนีเสื้อแดง วิ่งรอกจากห้องประชุมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อไปเป็นองค์ประชุมในสภา มันคุ้มค่าไหมที่เป็นนายกฯแล้วทำงานยากขนาดนี้

"ผมไม่ได้คิดถึงความคุ้มไม่คุ้ม เพราะการแก้ปัญหาประเทศชาติไม่ใช่เรื่องกำไร หรือขาดทุน และถ้าหากว่าผมต้องเป็นคนขาดทุนทางการเมือง แต่สามารถประคองสถานการณ์ท่ามกลางความทุกลักทุเลพาประเทศผ่านความยากลำบากไปได้ ผมพร้อมที่จะขาดทุนเพื่อให้ประเทศได้กำไร"

นี่คือคำตอบของผม และผมคิดว่าแม้คนไทยจะตะขิดตะขวงใจกับการที่ผมไปทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม แต่คนที่คิดอยู่ในระบบย่อมเข้าใจว่า เรามีผู้เล่นอยู่เท่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนผู้เล่นได้ เพราะคนที่จะเปลี่ยนผู้เล่นคือประชาชน เมื่อเปลี่ยนผู้เล่นไม่ได้ ผมก็ต้องจัดทีมจากผู้เล่นที่มีและดูแลให้ผู้เล่นเหล่านั้นเดินตามกติกาที่ผมวางไว้

แม้ว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกไม่ชอบใจนักกับองค์ประกอบของรัฐบาล แต่ถ้าทุกท่านจะย้อนความทรงจำไปในวันที่มีการสลับขั้วทางการเมือง มีผลสำรวจยืนยันว่า ความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6.55 คะแนน จากเดิม 4.84 คะแนน เพิ่มขึ้นถึง 2 คะแนน เพียงแค่มีการเปลี่ยนแปลงการนำจากพรรคพลังประชาชนมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยรู้ว่าบ้านเมืองในขณะนั้นเดินต่อไม่ได้ภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนหรือเปลี่ยนชื่อเป็นเพื่อไทยในเวลาต่อมา และเข้าใจดีว่าเงื่อนไขการบริหารงานที่มีผลประโยชน์ของคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวตั้งคือต้นตอความขัดแย้งของชาติบ้านเมือง

ผมทราบว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ความคาดหวังทั้งหมดของคนไทยมาอยู่ที่ผม และหลายคนรู้สึกผิดหวังในบางเรื่อง คิดว่าผมไม่เข้มแข็ง ไม่จัดการกับการทุจริต ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย เพราะที่ผ่านมาผมต่อสู้เพื่อรักษาประโยชน์ประเทศ แต่ผมไม่ใช่วิธีการแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือแสดงออกต่อสาธารณะให้เห็นว่าผมขวางในหลายโครงการ แต่ใช้วิธีพูดกันเป็นการภายในใช้เหตุใช้ผล ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช้จุดเปราะบางของคนอื่นมาสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้ตัวเอง เพราะผมถือว่าเมื่อเป็นรัฐบาลร่วมกันก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันด้วย

เมื่อเกิดกรณีปัญหาปลากระป๋องเน่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ คุณวิฑูรย์ นามบุตร ก็พร้อมปฏิบัติตามกฏที่ผมวางไว้ในข้อที่ 8และ 9 

คุณวิฑูรย์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงให้เห็นว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่เหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย แม้ว่าในขณะนั้นจะไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าคุณวิฑูรย์กระทำผิด แต่เมื่อเกิดข้อสงสัยก็ต้องเปิดทางให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ซึ่งในที่สุดผลการตรวจสอบก็ชี้แล้วว่า คุณวิฑูรย์ไม่ได้ทุจริต 

นี่คือความพร้อมของคนพรรคประชาธิปัตย์ ที่เต็มใจเสียสละรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน โดยไม่ต้องรอกระบวนการทางกฎหมาย เช่นเดียวกับกรณีของคุณวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เมื่อเริ่มมีข้อกังขาว่าอาจมีการทุจริตจากคนใกล้ชิด ผมก็ขอให้บรรดาเลขาที่ปรึกษาของคุณวิทยาลาออกทั้งชุด เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และเมื่อมีการพาดพิงไปถึงรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วย ผมก็ไม่ปล่อยปละละเลย แต่ได้ตั้งคุณหมอบรรลุ เป็นประธานตรวจสอบโดยฝ่ายการเมืองให้อิสระเต็มที่ไม่เข้าไปก้าวก่าย

เมื่อผลออกมาว่ารัฐมนตรีว่การกระทรวงสาธารณสุขควรรับผิดชอบแม้จะไม่มีอะไรชี้ชัดว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่คุณวิทยา ก็ไม่ยึดติดกับตำแหน่งลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที เพื่อย้ำให้เห็นแนวทางพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการยกระดับบรรทัดฐานทางการเมืองอย่างที่ผมเรียนไว้ในเบื้องต้น

ปัญหาอยู่ที่คุณมานิตย์ นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ซึ่งผมก็เข้าใจวิธีคิดและเห็นใจ เพราะคุณมานิตย์ ก็มั่นใจว่าตัวเองบริสุทธิ์ การลาออกเท่ากับยอมรับว่าทำผิด แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะการลาออกไม่ใช่การยอมรับว่าได้กระทำความผิด แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่านักการเมืองพร้อมรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนและยอมรับการตรวจสอบ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ กว่าที่ผมจะทำความเข้าใจกับ คุณมานิตย์ ซึ่งอยู่ในสังกัดของพรรคภูมิใจไทยจนได้ข้อยุติว่าคุณมานิตย์จะยอมลาออก ก็มีกระบวนการกดดันผมทุกทางสุดท้ายก็ต่อรองให้ผมประนีประนอมเปลี่ยนจากการลาออกจากตำแหน่งมาเป็นการลาพักแทน แต่ผมก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่า คุณมานิตย์ต้องปฏิบัติตามกฎ 9 ข้อที่ผมวางไว้ เหมือนกับรัฐมนตรีคนอื่น พร้อมกับอธิบายว่าแม้คุณมานิตย์จะเป็นรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย แต่เมื่อมาร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีผมเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เท่ากับอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผมไม่ใช่ของพรรคภูมิใจไทย

เมื่อมีเหตุที่ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ และถ้าไม่ทำ ก็เป็นหน้าที่ของผมในฐานะผู้บังคับบัญชาที่ต้องรักษากติกาที่ตัวเองวางไว้ ในขณะนั้นมีคนเตือนผมว่าทำอย่างนี้รัฐบาลจะไปไม่รอดพรรคภูมิใจไทยอาจจะถอนตัว แต่ผมยืนยันชัดเจนครับว่า "ความอยู่รอดของรัฐบาลไม่สำคัญเท่ากับการรักษาบรรทัดฐานทางการเมืองและความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน"

ในที่สุดเมื่อพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล ผมก็ต้องขอขอบคุณ คุณมานิตย์ ที่เข้าใจและให้ความร่วมมือ ช่วยกันยกระดับบรรทัดฐานทางการเมืองให้ประชาชนรู้สึกว่านักการเมืองเป็นที่พึ่งที่หวังของเขาได้ ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผมกำหนดวิธีปฏิบัติไม่ให้ถูกครหาว่าใช้อำนาจรัฐหาความได้เปรียบทางการเมือง ด้วยการให้ คุณสุเทพ รมต.เกื้อกูล และ รมต.บุญจง ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม และอีกเรื่องหนึ่ง ไม่นานมานี้คือ กรณีกระทรวงพาณิชย์ ที่ปลด นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผช.รมว.พาณิชย์ ให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะปปช.ได้รายงานใน ครม.ว่าเป็นนายหน้าค้ำประกันสัญญาให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง 

ที่ประมูลข้าวได้ไปโดยไม่มีการวางเงินสดค้ำประกันร้อยละ 5 หรือประมาณ 1 พันล้านบาท และยังตรวจสอบพบว่า นายวีระศักดิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว เนื่องจากต้นขั้วเช็คที่บริษัทนำมาวางค้ำประกันในการประมูล ปรากฏชื่อ นายวีระศักดิ์ เป็นผู้เซ็นค้ำประกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายวีระศักดิ์ ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกียวข้องมาโดยตลอด

เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเช่นนี้ ผมไม่ลังเลที่จะดำเนินการตามกฏ 9 ข้อที่ผมวางไว้ ซึ่งในขณะนั้นผมทราบดีว่าการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะสร้างความไม่พอใจกับ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นคำสั่งเด็ดขาดให้ดำเนินการทันทีโดยไม่เปิดโอกาสให้ใครมีสิทธิ์ต่อรองทั้งสิ้น

ผมให้ความเชื่อมั่นกับคนไทยทุกคนในฐานะที่ทำงานการเมืองมาตลอดเกือบ 20 ปีว่า ผมไม่มีวันทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ผมยอมรับครับว่าไม่สามารถสกัดกั้นการทุจริตได้ 100 % แต่สิ่งที่ผมให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้คือ ผมไม่ละเลยที่จะจัดการกับปัญหาการทุจริตและขอให้เชื่อมั่นในตัวผมว่า ทุกการตัดสินใจล้วนเป็นไปเพื่อส่วนรวมไม่เคยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง

ความผิดของผมอาจจะอยู่ตรงที่ว่า ผมไม่ใช้การตลาดนำการเมือง แต่ให้ความจริงเป็นบทพิสูจน์การกระทำ ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามบิดเบือนข้อมูลการทำงานของผมอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยการสร้างกระแสผ่านสื่อบางฉบับ ทำให้ประชาชนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่าผมตกเป็นเบี้ยล่างยอมจำนนต่อพรรคร่วมรัฐบาลเพียงเพื่อรักษาอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมก็ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง เพราะพฤติกรรมของผมชัดเจนว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น และ ตอนต่อไปผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับข้อครหาทุจริตในโครงการต่าง ๆ ที่ผมนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ก็เพื่อยืนยันว่า แม้ผมอาจไม่สามารถสกัดกั้นปัญหาทุจริตได้เต็มร้อย แต่ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ ไม่เคยเกรงกลัวเรื่องผลกระทบทางการเมือง และถ้าหากประชาชนให้โอกาสผมและพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป พลังของมวลชนจะเพิ่มความเข้มแข็งให้ผมต่อสู้เพื่อสร้างบ้านเมืองของเราให้เป็นไทยที่เข้มแข็ง

ที่มา บันทึกใน Facebook คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย Abhisit Vejjajiva เมื่อ 8 มิถุนายน 2011 เวลา 19:05 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Comment here (เขียนความคิดตรงนี้นะ)