เปิดมติการประชุมมรดกโลก ครั้งที่ ๓๕ กรณีปราสาทพระวิหาร
ฟิฟทีนมูฟ — เปิดเอกสารคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ ๓๕ มติ 35 COM 7B.62 ปราสาทพระวิหาร ไม่กล่าวถึงแผนบริหารจัดการปราสาท ข้อเสนอของทั้งกัมพูชาและไทยถูกถอนออกทั้งคู่ เหลือมติ ๖ ข้อจากเดิม ๗ ข้อ ส่วนเอกสาร สถานะการอนุรักษ์ WHC.11/35.COM/7B.Add.2 เอียงเข้าข้างเขมรน้อยลง ข้อมูลที่ระบุว่าไทยเปิดการโจมตีหรือยิงใส่ปราสาทหายไป
เอกสารการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ ๓๕ ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๙ มิถุนายน มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นปราสาทพระวิหาร ๒ ฉบับ ฉบับแรก คือ มติคณะกรรมการมรดกโลก 35 COM 7B.62 ซึ่งรวมอยู่ในเอกสารรายงานการประชุม WHC.11 /35.COM /20 ฉบับที่สอง คือ WHC.11/35.COM/7B.Add.2 เป็นรายงานสถานะการอนุรักษ์ หรือ State of conservation ซึ่งยูเนสโกปฏิเสธก่อนหน้าว่าคณะกรรมการมรดกโลกไม่มีการบันทึกในส่วนนี้ ฟิฟทีนมูฟนำเสนอเนื้อหาโดยละเอียดของเอกสารทั้งสองฉบับ
เอกสารผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๕ ที่กรุงปารีส WHC.11 /35.COM /20 ระบุมติ 35 COM 7B.62 กรณีปราสาทพระวิหาร ไว้ในข้อ ๖๒ หน้า ๑๐๓ มีเนื้อหา ดังนี้
——————————————————————–
๖๒. ปราสาทพระวิหาร (กัมพูชา) (C 1224rev)
มติ: 35 COM 7B.62
คณะกรรมการมรดกโลก
๑. ได้ตรวจสอบเอกสาร WHC-11/35 COM7B.Add.2
๒. อ้างถึง มติ 31 COM 8B.24, 32 COM 8B.102, 33 COM 7B.65, 34 COM 7B.66
จากการประชุมครั้งที่ ๑๓ (ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ ๒๕๕๐) การประชุมครั้งที่ ๓๒ (ควิเบก แคนาดา ๒๕๕๑) การประชุมครั้งที่ ๓๓ (เซบียา สเปน ๒๕๕๒) และการประชุมครั้งที่ ๓๔ (บราซิเลีย บราซิล ๒๕๕๓)
จากการประชุมครั้งที่ ๑๓ (ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ ๒๕๕๐) การประชุมครั้งที่ ๓๒ (ควิเบก แคนาดา ๒๕๕๑) การประชุมครั้งที่ ๓๓ (เซบียา สเปน ๒๕๕๒) และการประชุมครั้งที่ ๓๔ (บราซิเลีย บราซิล ๒๕๕๓)
๓. ขอบคุณ ผู้อำนวยการยูเนสโกที่ส่งทูตพิเศษ นายโคอิชิโร มัตสึอุระ ไปยังราชอาณาจักรไทยและกัมพูชา ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ด้วยมุมมองที่จะฟื้นคืนการสนทนาระหว่างสองภาคี
๔. ประทับใจ ความพยายามของผู้อำนวยการยูเนสโกในการอำนวยความสะดวกทั้งการหารือแยกและทวิภาคีระหว่างสองภาคี ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔
๕. รับทราบ ความตั้งใจดีของภาคีและยืนยันความจำเป็นที่ต้องรับประกัน โดยสอดคล้องกับแนวปฏิบัติ (Operational Guidelines) ในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพย์สมบัติจากความเสียหายใด
๖. สนับสนุน รัฐภาคีกัมพูชาและไทยให้ใช้อนุสัญญา ค.ศ.๑๙๗๒ เป็นเครื่องมือสนับสนุนการอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสนทนา
——————————————————————–
เป็นที่น่าสังเกตว่า มติของคณะกรรมการมรดกโลก (35 COM 7B.62 ใน WHC.11 /35.COM /20) ไม่มีการพูดถึง ๑. แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชา และ ๒. ร่างมติ 35 COM 7B.62 เดิมมี ๗ ข้อ ถูกตัดเหลือ ๖ ข้อ โดยส่วนที่เป็นข้อเสนอของทั้งกัมพูชาและไทย (ข้อ ๖ เดิม การตัดสินใจ) ถูกตัดออกไปทั้งคู่ โดยร่างมติที่ถูกเสนอเข้าในวาระการประชุมนั้น ฝ่ายกัมพูชาเสนอให้ทบทวนความคืบหน้าของการคุ้มครองและอนุรักษ์ในการประชุมครั้งที่ ๓๖ ขณะที่ฝ่ายไทยเสนอให้พิจารณาเอกสารในการประชุมครั้งที่ ๓๖
ขณะที่เอกสาร WHC.11/35.COM/7B.Add.2 ซึ่งเป็นเอกสารสถานะการอนุรักษ์ (State of conservation) ของทรัพย์สินมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก ได้ให้รายละเอียดที่เกี่ยวข้องปราสาทพระวิหาร ไว้ใน หน้า ๖-๗ ข้อ ๖๒. ปราสาทพระวิหาร (กัมพูชา) (C 1224rev) ซึ่งเนื้อหาสำคัญอยู่ในส่วนของปัญหาการอนุรักษ์ปัจจุบัน (Current conservation issues) มีรายละเอียดว่า
——————————————————————–
ปัญหาการอนุรักษ์ปัจจุบัน
ที่การประชุมครั้งที่ ๓๔ (บราซิลเลีย ๒๕๕๓) คณะกรรมการฯ ได้บันทึกว่า รัฐภาคีกัมพูชาได้ยื่นเอกสาร และตัดสินใจที่จะ “พิจารณาเอกสารที่ยื่นโดยรัฐภาคี ในการประชุมครั้งที่ ๓๕ พ.ศ.๒๕๕๔” (มติ 34 COM 7B.66) คณะกรรมการฯ ไม่ได้ร้องขอให้ภาคีใดรายงานสถานะการอนุรักษ์ของทรัพย์สมบัตินี้
โดยการร้องขอของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และโดยความยินยอมของกัมพูชา สำเนาเอกสารหนึ่งชุด คือแผนบริหารจัดการสำหรับทรัพย์สมบัติของปราสาทพระวิหาร รวมถึงแผนที่ซึ่งแก้ไขแล้ว ได้ถูกส่งถึงผู้แทนไทยประจำยูเนสโก โดยผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวัฒนธรรมของยูเนสโก เมื่อ ๙ กันยายน ๒๕๕๓ เอกสารเหล่านี้ได้ถูกแจกจ่ายให้กับ ICOMOS ระหว่างการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๓๔ (บราซิเลีย ๒๕๕๓)
แผนบริหารจัดการจัดเตรียมโดยรัฐภาคีกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๒ และได้รับประโยชน์จากคณะทำงานทางเทคนิคที่ไปยังทรัพย์สมบัติโดยทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ได้ยื่นถึงศูนย์มรดกโลก เมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
เมื่อ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ รัฐภาคีกัมพูชายื่นถึงศูนย์มรดกโลก ร้องขอความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เพื่อจัดการสัมมนาทางเทคนิค ประเด็นการอนุรักษ์ ทะนุบำรุงและจัดการปราสาทพระวิหาร คำร้องถูกตรวจสอบโดยเห็นชอบจากองค์กรที่ปรึกษา (ICOMOS และ ICCROM) และศูนย์มรดกโลก และเสนอแนะให้ประธานอนุมัติคำร้องจำนวน ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ บนเงื่อนไขที่ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้มีส่วนร่วมจากประเทศไทยควรได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เนื่องจากพัฒนาการต่อมาในและรอบทรัพย์สมบัติ คำร้องถูกชะลอการอนุมัติโดยประธาน
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ สถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนกัมพูชา-ไทย ได้เพิ่มความตึงเครียดและการเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศ นับตั้งแต่การเผชิญหน้าล่าสุดที่เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ดังที่ได้รายงานโดยสองฝ่าย กองกำลังติดอาวุธได้ยิงต่อสู้กันตั้งแต่วันที่ ๔-๗ กุมภาพันธ์ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของพลเรือนและทหาร การอพยพของประชากรพลเรือนและการทำลายทางกายภาพ
ยูเนสโกไม่มีรายงานชั้นต้นของสถานการณ์ในพื้นที่ สองฝ่ายได้ให้ข้อมูลฝ่ายตนของเหตุการณ์ ในจดหมายหลายฉบับซึ่งได้สื่อสารไปยังผู้อำนวยการยูเนสโก ประธานคณะกรรมการฯ หรือประธานคณะกรรมการบริหาร
ยูเนสโกได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกระตุ้นซ้ำให้รัฐภาคีทั้งสองแก้ข้อพิพาทโดยสันติ และลดความตึงเครียดรอบทรัพย์สมบัติ ด้วยมุมมองที่จะประเมินสถานการณ์ได้ดีขึ้นและขยับเคลื่อนการสนทนาระหว่างสองฝ่าย ผู้อำนวยการยูเนสโกตัดสินใจส่งทูตพิเศษ อดีตผู้อำนวยการยูเนสโก นายโคอิชิโร มัตสึอุระ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ถึง ๑ มีนาคม นายมัตสึอุระ พบกับหัวหน้ารัฐบาลของทั้งสองในเมืองหลวงเพื่อสนับสนุนให้มีการสนทนาและความร่วมมือต่อ ดังผลของภารกิจนี้ ได้เห็นชอบให้การประชุมทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทย ซึ่งอำนวยความสะดวกโดยผู้อำนวยการยูเนสโก เกิดขึ้นเมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ในกรุงปารีส ก่อนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการมรดกโลก ที่กำหนดในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔
เมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ มีการขยายตัวต่อไปอีกเกิดขึ้นในพื้นที่ทางตะวันตกของทรัพย์สมบัติ ระหว่างกำลังทหารสองฝ่าย ในพื้นที่เขตแดนระหว่างกัมพูชาและไทย
การสู้รบในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ๒๕๕๔ มีความยืดเยื้อยิ่งขึ้น และมีรายงานการใช้อาวุธหนัก ก่อนหน้าการปะทะ สองประเทศมีรายงานการเสริมกำลังทหารในพื้นที่ หลังความไม่ลงรอยกันกรณีมีธงชาติในเขตพิพาท ผลของการสู้รบ มีรายงานว่าพลเรือนหลายพันได้เกิดการพลัดถิ่นในทั้งสองประเทศ
ความช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Assistance) ร้องขอเงินจำนวน ๗๔,๔๒๒ ดอลลาร์สหรัฐจากกองทุนมรดกโลก (World Heritage Fund) ยื่นโดยเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติสำหรับยูเนสโกของกัมพูชา (Cambodian National Commission for UNESCO) ถึงศูนย์มรดกโลก เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔ โครงการมีเป้าหมายนำไปทำความสะอาดฉุกเฉินและสนับสนุนการอนุรักษ์ที่ทรัพย์สมบัติ ในขณะเตรียมรายงานนี้ คำร้องได้ถูกประเมินอย่างเป็นบวกโดยองค์กรที่ปรึกษา (ICOMOS และ ICCROM) หลังขอความชัดเจนหลายครั้งจากรัฐภาคีกัมพูชา คำร้องจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากประธานคณะกรรมการมรดกโลก
ผู้อำนวยการยูเนสโก ได้อำนวยความสะดวกในการประชุมแยกและทวิภาคี ระหว่างตัวแทนของราชอาณาจักรกัมพูชาและไทย เมื่อวันที่ ๒๕, ๒๖ และ ๒๗ พฤษภาคม ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ในกรุงปารีส ภาคีทั้งสองยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรับประกันการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพย์สมบัติ และป้องกันความเสียหายในอนาคต ความจำเป็นที่จะต้องทำการซ่อมแซมฉุกเฉินและมาตรการการบูรณะก็ถูกรับทราบเช่นกัน เป็นความจำเป็นที่ต้องสนทนาและปรึกษาต่อซึ่งนำไปสู่การประชุมครั้งที่ ๓๕ ของคณะกรรมการมรดกโลก
ข้อสรุป:
ศูนย์มรดกโลกและองค์การที่ปรึกษาเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องสร้างการสนทนาขึ้นใหม่อีกครั้ง ระหว่างภาคีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อทรัพย์สมบัติของมรดกโลก
ศูนย์มรดกโลกและองค์การที่ปรึกษาเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องสร้างการสนทนาขึ้นใหม่อีกครั้ง ระหว่างภาคีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อทรัพย์สมบัติของมรดกโลก
ร่างมติ: 35 COM 7B.62
ร่างมติจะถูกเสนอคณะกรรมการมรดกโลกระหว่างการประชุม
ร่างมติจะถูกเสนอคณะกรรมการมรดกโลกระหว่างการประชุม
——————————————————————–
มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ตามเอกสารข่าวของยูเนสโกและศูนย์มรดกโลกเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน กรณีนางอิรินา โบโกวา แสดงความเสียใจต่อการถอนตัวจากอนุสัญญา ค.ศ.๑๙๗๒ ความตอนหนึ่งระบุว่า คณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้หารือแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร หรือขอให้บันทึกรายงานใด ๆ ลงในสถานะของการอนุรักษ์ แต่ตามเอกสารมติคณะกรรมการมรดกโลกอย่างเป็นทางการ กลับมีการลงบันทึกสถานะการอนุรักษ์ ใน WHC.11/35.COM/7B.Add.2 ความยาว ๒ หน้ากระดาษ นอกจากนี้ข้อความที่โน้มเอียงเข้าข้างกัมพูชา อันได้แก่ไทยเป็นฝ่ายเปิดการโจมตี หรือความเสียหายของปราสาทพระวิหารที่เกิดจากการยิงปืนใหญ่ของทหารไทย และอื่น ๆ ที่ปรากฎในต้นร่าง ไม่มีบันทึกในรายงานฉบับนี้
---------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา ตามนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
Comment here (เขียนความคิดตรงนี้นะ)