ความแตกต่างของพระมหากษัตริย์อังกฤษ และพระมหากษัตริย์ไทย
ในส่วนพระราชฐานะ พระราชอำนาจ และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน
โดยแบ่งเป็นกรณี ได้ดังนี้
พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์อังกฤษ และพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นมีลักษณะสำคัญ ๆ ที่เหมือนกันคือ ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงเป็นที่มาแห่งความยุติธรรม และทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศ ซึ่งในหลักการแล้วจะเหมือนกัน จะแตกต่างในส่วนของแนวคิดที่มาและรายละเอียดปลีกย่อย
แต่ส่วนของพระราชฐานะที่แตกต่างกันระหว่างพระมหากษัตริย์อังกฤษ และพระมหากษัตริย์ไทยที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ พระราชฐานะประมุขของฝ่ายบริหาร และประมุขของศาสนจักร ในอังกฤษนั้น มีแนวคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของฝ่ายบริหารอย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นประมุขฝ่ายบริหารในทางแบบพิธี (Formal) เท่านั้น มิได้ทรงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารประเทศของฝ่ายบริหารในแง่ของกลไก (Function) แต่อย่างใด ในรูปแบบของการปกครองในระบบระบบรัฐสภา (Parliamentary system) ของอังกฤษนั้น ในทางรูปแบบ ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบทั้งต่อพระมหากษัตริย์และรัฐสภาซึ่งถือเป็นระบบรัฐสภาแบบอำนาจคู่ (dualist) เนื่องจากในทางรูปแบบแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่ในความเป็นจริงฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อสภาสามัญเท่านั้น มิได้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของฝ่ายบริหารแต่อย่างใด (monist) ในกรณีดังกล่าวนี้จะแตกต่างจากประเทศไทย ในประเทศไทยนั้นไม่มีแนวคิดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของฝ่ายบริหารเหมือนดังที่อังกฤษมี แต่อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในแทบจะทุกฉบับได้มีการบัญญัติไว้ในแนวทางเดียวกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง และถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี บทบัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญไทยสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภาของไทยมีลักษณะเป็นแบบอำนาจคู่ (Dualist) ดังเช่นอังกฤษ
แต่กระนั้น ในความเป็นจริง กลไกที่แท้จริงของระบบการปกครองในระบบรัฐสภาของไทยเป็นแบบอำนาจเดี่ยว (Monist) กล่าวคือ ในประเทศไทยนั้นตั้งแต่ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา มีลักษณะที่ฝ่ายบริหารเข้ามารับหน้าที่ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไปดำเนินการแทนองค์พระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับคณะรัฐบาลเป็นไปในแบบพิธีเท่านั้น คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อรัฐสภามิใช่ต่อพระมหากษัตริย์ อาจกล่าวได้โดยสรุปว่าประเทศอังกฤษและไทยนั้น มีลักษณะเหมือนกันคือรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ แต่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์และรัฐบาลเป็นไปตามแนวแบบพิธีเท่านั้น แต่จะมีส่วนที่แตกต่างกันก็คือ ในประเทศอังกฤษมีแนวคิดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร แต่ของไทยมิได้มีแนวคิดเช่นว่านั้น
๒. พระราชอำนาจ
จุดมุ่งหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) นั้น คือการที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยวิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ วิวัฒนาการของระบอบการปกครอง รวมทั้งขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ทำให้พระราชอำนาจและบทบาทตามรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์อังกฤษและพระมหากษัตริย์ไทยมีความแตกต่างกันในเนื้อหา พระมหากษัตริย์อังกฤษยังทรงมีพระราชอำนาจในการที่จะทรงใช้พระราขวินิจฉัยส่วนพระองค์ในกรณีของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และในกรณีวิกฤติการณ์ของชาติ และแนวโน้มของการเพิ่มพูนพระราชอำนาจดังกล่าวก็มีมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบพรรคการเมืองจากรูปแบบของพรรคการเมืองแบบสองพรรค ไปเป็นแบบหลายพรรคการเมือง (multi-party system) อันก่อให้เกิดปัญหาหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปแล้วไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงในสภาสามัญเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (hung Parliament) ขึ้นได้ง่าย กรณีของประเทศอังกฤษดังกล่าวไม่ปรากฏในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมี รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หากได้ศึกษาถึงประวัติรัฐธรรมนูญไทยในฉบับต่าง ๆ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีลักษณะตรงกันข้ามอังกฤษ
กล่าวคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบางฉบับที่มีลักษณะที่ถวายพระราชอำนาจแก่องค์พระมหากษัตริย์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้ทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมืองตลอดมา จะทรงลดพระองค์เข้ายุ่งเกี่ยวก็เฉพาะกับกรณีที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตของประเทศชาติเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้พระมหากษัตริย์ไทยจะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจดั้งเดิมที่จะทรงใช้ในกรณีวิกฤติของบ้านเมือง ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษแต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ
๑. พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงใช้พระราชอำนาจโดยพระองค์เองในกรณีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและทรงใช้พระราชอำนาจโดยพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ในกรณีบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติทางรัฐธรรมนูญหรือทางเศรษฐกิจ ดังเช่น กรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเสียงในสภาสามัญได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งหรือการชะงักงันของสภาสามัฐ (hung Parliament) หรือในกรณีที่ในปี ๑๙๓๑ พระเจ้าจอร์จที่ ๕ ทรงไม่ต้องการให้นาย MacDonald ลาออกในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำ จึงได้ทรงพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์โดยพยายามจะให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ (National government) ขึ้นภายใต้การนำของนาย MacDonal โดยทรงพยายามเกลี้ยกล่อมให้หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และหัวหน้าพรรคลิเบอรัลเข้าร่วมในรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งหัวหน้าพรรคทั้งสองยินยอมให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้น กรณีของวิกฤติการณ์ทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ ถือเป็นกรณีที่เป็นข้อพิพาทในทางการเมืองประชาชนมิได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบโดยตรงแต่อย่างใด ซึ่งจะต่างจากกรณีการใช้พระราชอำนาจดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็นการใช้พระราชอำนาจในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤติที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของประชาชนกับรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังเช่น กรณี ๑๔ ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ เป็นต้น พระมหากษัตริย์ไทย ไม่เคยทรงลดพระองค์ลงมายุ่งเกี่ยวกับปัญหาการต่อสู้ทางการเมือง ดังเช่นในอังกฤษ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงดำรงพระองค์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริงยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษ ที่เป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๒. การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษในกรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นการใช้พระราชอำนาจที่มีข้อโต้แย้งในทางวิชาการเสมอว่า พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงสามารถใช้พระราชอำนาจดังกล่าวได้หรือไม่เพียงใด และเป็นการใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขตของ รัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ในการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย นั้น ถือเป็นการใช้พระราชอำนาจดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว พระราชอำนาจดั้งเดิมดังกล่าวจะยังคงมีอยู่มากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้วอาจทำให้มีการมองว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น คงมีอยู่เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่แท้จริงแล้ว พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยที่แต่เดิมมีอยู่อย่างล้นพ้นนั้นก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ว่าจะสามารถนำมาใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าการใช้พระราชอำนาจดังกล่าว สอดคล้องกับหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่เพียงใด รวมทั้งขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ (Royal Charisma)
๓. บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทั้งอังกฤษและไทยไม่มีภารกิจหลักในการบริหารปกครองประเทศเหมือนดังที่ต้องทำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คงเหลือไว้แต่ภารกิจในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นสัญลักษณ์กับนานาประเทศ เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำรัฐบาลและเป็นศูนย์กลางประสานประโยชน์ของคนทุกฝ่ายในชาติ ตั้งแต่ในยุคโบราณสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษถูกมองว่า เป็นสถาบันที่ลึกลับและเต็มไปด้วยความรู้สึกแห่งเทพนิยาย (magic) ได้เคยมีการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษในปี ๑๙๕๖ หลังจากการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒ เป็นเวลา ๔ ปี ผลการปรากฏว่าร้อยละ ๓๕ เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ได้ถูกเลือกโดยพระเจ้า จนกระทั่งในช่วงปี ๑๙๙๐ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากทัศนคติของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงเนื่องจากสภาพสังคมยุคใหม่ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงปี ๑๙๙๐ เป็นช่วงที่นาง Margaret Thatcher เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายของนาง Margaret ได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันและองค์กรต่าง ๆ จะต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความมีประโยชน์ขององค์กรหรือสถาบันนั้นๆ เป็นองค์กรหรือสถาบันที่มีมานานแล้วเท่านั้น หากองค์กรหรือสถาบันใดไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็จำเป็นต้องยกเลิกหรือมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ นโยบายดังกล่าว แม้ไม่ได้กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีผลกระทบในทางอ้อมที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ พยายามที่จะปรับเปลี่ยนสถาบันให้มีความทันสมัยขึ้น โดยพยายามจะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จากสถาบันที่เต็มไปด้วยความรู้สึกเทพนิยาย (magic) ไปสู่สถาบันที่ทรงไว้ซึ่งประโยชน์ (practical) ซึ่งมีกรณีดังกล่าวสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษจำเป็นจะต้องลดระยะห่างของสถาบันกับประชาชนลง และพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนบทบาทจากสถาบันที่ห่างไกลจากประชาชนมาเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น โดยการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อสังคม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลไม่ทั่วถึง
ลักษณะดังกล่าวเป็นบทบาทในยุคใหม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ โดยอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นบทบาทที่มีแนวคิดแบบสังคมสงเคราะห์ (welfare conception) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าฟ้าชายชาร์ล ซึ่งอุทิศพระองค์ในการช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาสในสังคม เช่น คนพิการ คนว่างงาน และคนกลุ่มน้อย เป็นต้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวข้างต้นเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ทางการ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมอบหมายให้สถาบันอื่นใดปฏิบัติแทนไม่ได้ มีหลายกรณีคือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับพระราชพิธีตามประเพณีของราชสำนัก อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชั้นสูงของสังคมไทยมาแต่โบราณกาล พระราชพิธีที่เป็นการภายในส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์นั้นจะคงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงไปตามพระราชอธัยาศัยโดยตรง แต่ในส่วนพระราชพิธีที่มีส่วนเป็นการสาธารณะของชาติให้ประชาชนทั่วไปในสังคมมีส่วนร่วม เป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก
รัฐบาลต้องจัดงบประมาณสนับสนุนเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความสมบูรณ์ของเกษตรกรรมที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชาชนในชาติหรือพระราชพิธีใหญ่ ๆ ในโอกาสสำคัญพิเศษที่มีนาน ๆ ครั้ง เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเสด็จทางชลมารค เฉลิมฉลองระยะเวลาครองราชสมบัติหรือรอบพระชนมายุที่ยาวนาน ซึ่งพิธีการเหล่านี้มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประธานที่มาของงาน และพสกนิกรร่วมฉลองแสดงความปิติและภักดี กิจกรรมเหล่านี้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แสดงความรักสมัคคี และศักดิ์ศรีเกียรติยศของประเทศชาติ ที่เป็นความสืบเนื่องของอารยธรรมไทย เป็นการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยในแบบจารีตประเพณีดั้งเดิมที่ไม่มีสถาบันอื่นใดในสังคมจะแบ่งเบาภารกิจนี้ไปได้ พระราชกรณียกิจในด้านการส่งเสริมคุณภาพของประชาชนพลเมือง ด้วยการเสด็จเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรโดยตรงด้วยพระองค์เองของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ในรัชกาลปัจจุบันความสัมพันธ์ดังกล่าวนับได้ว่ามีมากกว่ายุคสมัยใดๆ ของประวัติศาสตร์ไทย จากการประพาสในทุกสภาพภูมิประเทศทั่วทุกภาคเพื่อรับรู้ความทุกข์ยากของราษฎร ที่รัฐบาลผู้บริหารปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังดูแลบริการได้ไม่ทั่วถึงเพราะความจำกัด ของทรัยากรวัตถุและบุคคล
โครงการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษาของประชาชนผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ด้วยบุคลากรอาสาสมัครสนองพระราชประสงค์ และทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งเมื่อเวลาล่วงไปก็มีโครงการอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์เพื่อช่วยพัฒนาอาชีพของราษฎร และอนุรักษ์สภาพแวดล้อมธรรมชาติด้วยในทุกภาคของประเทศ ที่เริ่มจากการทดลองศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองและผู้เชี่ยวชาญในพระบรมราชูปถัมภ์ และด้วยเงินบริจาคสมบทโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยของประชาชนผู้ศรัทธา แล้วนำไปแนะนำให้ราษฏรกลุ่มเป้าหมายปฏิบัติเพื่อพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของตนได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน รวมถึงโครงการตามพระราชดำริเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการแก้ปัญหาฝนแล้งน้ำท่วม ดินเสื่อมโทรม การขาดแคลนน้ำ ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง หรือปัญหาการทำลายป่าและภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป ซึ่งสรุปแล้วคือพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทุกแง่มุมอย่งถูกต้องตามหลักวิชาการที่แสดงถึงพระเมตตา และพระปัญญาบารมี
อาจกล่าวโดยสรุปว่า บทบาทของพระมหากษัตริย์ในยุคของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชาชนในสังคมมากขึ้น ทั้งในลักษณะที่เป็นการช่วยเหลือดูแลทุกข์สุขของราษฏรที่เป็นรูปธรรม และในลักษณะของการพระราชทานกำลังใจในการดำเนินชีวิตซึ่งมีลักษณะ เป็นเสมือนศูนย์รวมใจของคนทั้งชาติ ซึ่งบทบาทในสองลักษณะดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงถือเป็นพระราชภารกิจของพระองค์เสมอมานับแต่เมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อกว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทุ่มเทพระวรกาย และพระวิริยะอุตสาหะในการที่จะให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของอาณาประชาราษฏรทั้งด้านรูปธรรมและทางด้านจิตใจในทางรูปธรรมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพยายามที่จะชี้แนะหนทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เพื่อช่วยชี้นำทางประชาชนให้มีความมานะอดทนต่อการกระทำในสิ่งต่างๆ
นอกจากนั้น ยังทรงได้มีแนวพระราชดำริในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยชี้นำประชาชนให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและเหมาะสม บทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวได้ถือว่า เป็นบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ยุคใหม่ที่ลงมาสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชน บทบาทดังกล่าวนี้เพิ่งเริ่มเป็นบทบาทที่พระมหากษัตริย์อังกฤษหันมาให้ความสนใจ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ พระราชวงศ์อังกฤษได้เริ่มที่จะลงมาสัมผัสประชาชนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้เริ่มแสดงบทบาทในทางสังคมสงเคราะห์มากขึ้นเช่นกัน จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นเสมือนหนึ่งศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ พระบรมเดชานุภาพของพระองค์มีมากล้นจนเกินกว่าที่จะสามารถบัญญัติไว้เป็นถ้อยคำใดๆ ในกฎหมายได้ ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องมีการบันทึกหรือบัญญัติถึงพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เป็นตัวบทกฎหมาย เพราะพระบรมเดชานุภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้นเป็นที่ซาบซึ้งและสถิตย์อยู่ทั่วในจิตใจของชนชาวไทยทุกคนอยู่แล้วโดยเสมอมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
Comment here (เขียนความคิดตรงนี้นะ)